จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิธีการเพาะถั่วงอกปลอดสารพิษ


การเพาะถั่วงอก บนหาดทรายเป็นกรรมวิธีที่ง่ายและสะดวกขั้นตอนก็ต้องเริ่มจากเตรียมเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวที่จะนำมาเพาะต้องคัดเลือก ถั่วเขียวไร่  หรือถั่วแขก (ถั่วเขียวผิวดำ) เลือกเมล็ดที่มีขนาดกลางมีความสมบูรณ์ เพราะจะงอกเร็วและจะได้ผลผลิตที่มีปริมาณมาก  นำเมล็ดถั่วเขียวที่ได้ไปล้างเศษผง เปลือกถั่วและเมล็ดถั่วที่เน่าเสียออก จนได้เมล็ดที่สะอาด แล้วแช่ลงในน้ำ ๘-๑๐ ชั่วโมง รอจนกระทั่งเมล็ดถั่วพองใส  ถ้าจะให้เร็วต้องแช่ในน้ำอุ่น เพราะจะทำให้เมล็ดถั่วพองและใสได้เร็วขึ้น  เมื่อนำมาเพาะจะเจริญเติบโตได้รวดเร็ว หลังจากแช่เมล็ดนั้น ก็เตรียมพื้นที่ที่จะใช้สำหรับเพาะถั่ว การเลือกทรายที่จะเพาะ ต้องเลือกทรายที่สะอาด บริเวณใดมีทรายขี้เป็ด (ทรายที่มีดินหรือเลนปน) ปนอยู่ถั่วงอกจะเน่าเสีย เมื่อเลือกพื้นที่ได้แล้วก็เริ่มลงมือขุดบ่อทรายให้เป็นวงกลมสักประมาณ ๗๐-๘๐ เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของหลุมประมาณ ๒ เมตร แล้วจึงนำเมล็ดถั่วเขียวที่ผ่านการแช่จนพองแล้วนำมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ  แล้วหว่านในบ่อทรายเป็นชั้น ๆ การหว่านเมล็ด ถ้าต้องการให้ลำต้นถั่วงอกเพาะมีลักษณะอวบอ้วน ขาวก็ต้องหว่านเมล็ดให้บาง ๆ แต่ถ้าต้องการให้ลำต้นยาวก็หว่านเมล็ดให้ หนา ๆ เมื่อหว่านเมล็ดลงไปเรียบร้อยจึงกลบด้วยทรายบาง ๆ พอเห็นเมล็ดถั่วรำไร หว่านเมล็ดสลับการกลบด้วยทรายเป็นชั้น ๆ ไปเรื่อยจนถึงชั้นสุดท้าย ก็นำทรายกลบบนเมล็ดถั่วให้หนาประมาณ ๕-๗ เซนติเมตร อัตราส่วนเมล็ดถั่วเขียว ๑ ถังต่อจำนวนพื้นที่ ๑ หลุม
      การ ควบคุมดูแลการเพาะถั่วงอก ต้องรดน้ำให้ชุ่มทั้งเช้าและเย็น  ถ้ามีแสงแดดมาก ๆ จะต้องใช้กระสอบคลุม  แล้วปิดทับด้วยก้านมะพร้าว ดูแลรดน้ำเช้าเย็นจนครบ ๔ วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้  เมื่อนำถั่วงอกเพาะขึ้นจากบ่อทรายใส่ลงในกระพ้อม (เครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่เป็นภาชนะขนาดใหญ่ สานเป็นตา ๆ ไม่ห่างนัก) เพื่อนำมาล้างทรายที่ติดกับถั่วงอกในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ประหยัดน้ำและจะได้ถั่วงอกเพาะที่ขาวสะอาด เกลี้ยงเกลา น่ารับประทานส่วนวิธีการล้างก็กางสองแขนโอบถั่วงอกเพาะ ตลบถั่วงอกเพื่อคลึงเบา ๆ เปลือกและรากของถั่วงอกเพาะก็จะหลุดลอยอยู่บนผิวน้ำ เป็นอาหารของปลาต่อไป ซึ่งไม่เป็นการสร้างมลภาวะให้กับ   แม่น้ำ และยังเป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิตด้วย ปัจจุบันได้พัฒนาใช้วงสังกะสี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กาง ๑ เมตร ลึก ๑ เมตรแทนที่จะขุดหลุมลงในหาดทรายซึ่งต้องเปลืองแรงมาก สามารถยกเคลื่อนย้ายไปในที่ต่าง ๆ ได้ โดยวางบนพื้นทรายก็ทำการเพาะได้ ปริมาณถั่วที่ใช้ประมาณ ๔-๕  ลิตร ต่อ ๑  วงสังกะสี     

ผู้ประกอบ การจะใช้วงสังกะสี ๔ วง  ในแต่ละวัน ซึ่งใช้ถั่วพันธุ์ประมาณ ๑ ถัง แล้วทำการเพาะถั่วต่อไปทุก ๆ วัน วันละ ๔ วง และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต่อเนื่องกันจึงต้องเพิ่มวงสังกะสีเป็น ๑๖ วง จะต้องทำการเพาะทุกวันจึงจะได้ผลผลิตไม่ขาดตอน สามารถส่งออกสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ  ขั้นตอนการหว่านเมล็ดพันธุ์ก็ทำเช่นเดียวกับทำที่พื้นหาดทราย เพียงแต่ต้องควบคุมอุณหภูมิ  ความชื้นระหว่างการเจริญเติบโตของถั่วจนครบ ๔ วัน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตนำถั่วไปล้างได้  และต่อมาภูมิปัญญาชาวบ้านได้ปรับพัฒนาในเรื่องภาชนะที่ใช้ในการเพาะเป็น กระถางปลูกบัวแทนวงสังกะสี  (มีอายุการใช้งานน้อยผุกร่อนได้ง่าย) ซึ่งต้องใช้ขนาดปากกระถางกว้างประมาณ ๑  เมตร  สูงประมาณ ๖๐?๗๐ เซนติเมตร ก้นเจาะรู ทางด้านข้างใส่ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  ๕ เซนติเมตร สำหรับใช้เป็นทางระบายน้ำ เพื่อถ่ายเทความร้อนจากกระถางเพาะถั่วงอกในขณะรดน้ำ การเตรียมกระถางก็ต้องสะอาดอาจจะแช่น้ำในกระถางด้วยคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค และป้องกันการเน่าเสียของถั่วงอกในขณะทำการเพาะ  กระถางต้องวางบนก้อนซีเมนต์ เพื่อให้ก้นกระถางสูงจากพื้น   เวลารดน้ำถั่วงอกจะได้ถ่ายเทออกจากกระถางได้  หลังจากคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และล้างสะอาดแล้ว นำเมล็ดพันธุ์มาแช่ไว้ในกระถางปลูกบัวที่ล้างสะอาดแล้ว ประมาณ ๘?๑๐ ชั่วโมงจนเมล็ดถั่วพองใส (อัตราส่วนในการเพาะเมล็ดพันธุ์ ๑๖ กิโลกรัม ต่อกระถางเพาะ ๑ ใบ จะได้ผลผลิตถั่วงอกเพาะ ๘๐?๑๐๐ กิโลกรัม )  ระบายน้ำออกจากปลายท่อ ที่เจาะไว้ที่ก้นกระถาง ปิดทับด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ที่ทำเป็นตาข่ายถี่ ๆ คลุมทับด้วยกระสอบ   ๑ ชั้น รดน้ำให้ชุ่มแล้วปล่อยทิ้งไว้  ระหว่างที่ถั่วงอกเจริญเติบโตจะต้องคอยรดน้ำเพื่อถ่ายเทความร้อนออกจากระถาง ถั่วงอกเพาะ ขณะรดน้ำจะใช้เท้าสัมผัสกับน้ำที่ไหลออกจากปลายท่อ เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำ ถ้าน้ำที่ไหลออกมาจากปลายท่อเย็น  จึงหยุดรดน้ำได้ การรดน้ำจะรดเป็นระยะ ๆ คือ ๒ ชั่วโมง ต่อ ๑ ครั้ง และจะรดเฉพาะตอนกลางวัน เวลากลางคืนไม่ต้องรดน้ำ น้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำจากแม่น้ำ หรือจากน้ำบาดาลที่จะมีแร่ธาตุที่ถั่วงอกต้องการ ถ้ารดด้วยน้ำประปาการเจริญเติบโตจะไม่ดีเท่าที่ควร   การดูแล  ในวันที่ ๒ จะต้องเพิ่มกระสอบคลุม เป็น ๒ ชั้น วันที่ ๓ จะเพิ่มปริมาณกระสอบเป็น ๓ ชั้น ถั่วงอกจะเพิ่มมาเต็มกระถางพอดี วันที่ ๔ ปริมาณ  ถั่วงอกจะออกล้นปากกระถาง จะใช้กระสอบคลุมทับเป็น ๔ ชั้น เพื่อไม่ให้ถั่วงอกยาวเร็วเกินไป จะได้ถั่วงอกเพาะที่มีลำต้นอวบอ้วน  พอเวลา  ๒๒.๐๐ น. ของวันที่    ก็จะลงมือเก็บผลผลิต เพื่อนำมาล้างให้สะอาดก่อนส่งออกสู่ตลาดในวันรุ่งขึ้น  สำหรับการปลูกสร้างโรงเรือนเพาะถั่วงอก จะมีการสร้างอ่างล้างถั่วงอกไว้มุมใดมุมหนึ่งของโรงเรือน ขนาดของอ่างจะกว้าง ประมาณ ๒ เมตรยาว ๔ เมตร สูง ๑ เมตร สามารถนำกระพ้อม บรรจุถั่วงอกที่เตรียมจะล้างลงไปในอ่าง แล้วใช้วิธีการล้างดังได้กล่าว   ตอนต้นที่เพาะบนหาดทรายแล้ว  หลังจากนั้นจะใช้ตะแกรงขนาดใหญ่ตักถั่วงอกเพาะขึ้นจากกระพ้อม พักให้สะเด็ดน้ำก่อนที่จะบรรจุลงในภาชนะ ชั่งน้ำหนักเตรียมส่งออกจำหน่าย
หมู่บ้านบางแคของ จังหวัดสิงห์บุรี ได้ชื่อว่ามีการประกอบอาชีพการทำถั่วงอกเพาะ  เพราะบริเวณนี้เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ  พื้นที่แถบนี้จึงกลายเป็นชายหาดกว้างใหญ่เต็มไปด้วยทรายขาวสะอาด  ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงบังเกิดขึ้นด้วยสายตาอันยาวไกลผสมผสานกับความคิด  ความสามารถที่จะใช้วัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลผลิตของถั่วงอกเพาะที่หาดทรายได้ผลดีเกินคาด  เพราะถั่วงอกที่ได้จะมีลักษณะลำต้นที่อวบอ้วน ขาวกรอบ และเก็บรักษาได้นานกว่าถั่วงอกที่เพาะด้วยวิธีเดิม 

 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น